โดยปกติแล้วเป็นคนไม่อ่านหนังสือจำพวก How-to ใดๆทั้งสิ้น แต่มาสะดุดตาสะดุดใจกับหนังสือเล่มนี้จากที่ The Matter จั่วหัวเอาไว้ในบทความหนึ่งว่า
“ก่อนคุณจะไปหาหมอเพื่อตรวจว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ให้คุณตรวจก่อนว่ารอบๆ ตัว เต็มไปด้วยคนเหี้ยๆ หรือเปล่า”
ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อความที่แปลมาจากหนังสือเรื่อง The Asshole Survival Guide เลยเกิดสนใจใคร่รู้แล้วไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน แต่เนื่องจากไม่เคยเขียนรีวิวหนังสือมาก่อนและไม่เคยอ่านด้วยว่าเขาเขียนกันยังไง เลยจะขออนุญาตเขียนตามใจตัวเอง จะเล่าเท่าที่อยากเล่า จะใส่ความเห็นตามที่อยากบอกละกัน
มาพูดเรื่องโครงสร้างและวิธีการเขียนของหนังสือก่อน
ถือเป็นหนังสือที่อ่านง่ายมาก ผู้เขียนเขียนตามครรลองของการเขียนหนังสือฮาวทูทั่วไป คือขึ้นมาด้วย Thesis statement บอกว่าจะเขียนเรื่องอะไร แล้วตามมาด้วย จะเขียนอย่างไร รวมไปถึงเกริ่นนำรายละเอียดของแต่ละบทว่าจะเจอเนื้อหาอะไรบ้าง ในแต่ละบทก็จะมีการเขียนย้ำอีกครั้งตอนขึ้นต้นว่า เรากำลังจะอ่านเรื่องอะไร รวมไปถึงกล่าวอ้างย้อนไปบทนั้นบทนี้ ทำให้เวลาอ่านจะเห็นภาพรวม ที่มาที่ไป และวิธีการเชื่อมโยงของผู้เขียน นับเป็นหนังสือที่เขียนได้ดีเลยแหละ น่าจะได้อ่านก่อนเขียนวิทยานิพนธ์
หนังสือเล่มนี้มีการอ้างถึงงานวิจัยว่าด้วยศาสตร์แห่งการเป็นคนระยำไว้เยอะมาก มีการสัมภาษณ์คนทำวิจัยในสาขาต่างๆทั้งจิตวิทยา สังคมวิทยา และมานุษวิทยา เลยทำให้เห็นมุมมองในการวิเคราะห์คนระยำตำบอนที่หลากหลายออกไป ผู้เขียนสามารถเขียนสรุปงานวิจัยยากๆมากมายออกมาให้อ่านง่าย ทฤษฎีไม่แยะ และที่สำคัญคือเอามาสรุปให้เลยว่า เราควรจะทำอย่างไรเมื่อเจอกับบุคคลร้ายกาจเหล่านั้น
ในส่วนของเนื้อหา จริงๆเราไม่รู้สึกว่า มีอะไรที่แปลกใหม่ หลายๆความคิดและวิธีในหนังสือเป็นสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้ว แต่แค่พอเขียนออกมาเป็นข้อๆ พร้อมมีตัวอย่าง (ที่มาจากประสบการณ์จริงของผู้คนมากมายที่เขียนอีเมลมาปรึกษาผู้เขียน) มันเลยเห็นภาพชัดมากขึ้น
ขอสรุปมาแต่สิ่งที่คิดว่ามันเป็นประโยชน์กับตัวเราเองละกันนะ
วิธีการเอาตัวรอดจากคนเหี้ย
เริ่มจากวิเคราะห์ตัวเองก่อน
- เราเจอคนเหี้ยอยู่รึเปล่า ในบางครั้งที่คนมาเหี้ยใส่ เราอาจจะเกิดอาการงงๆมึนๆ เพราะมนุษย์เหล่านี้มีวิธีการที่แยบยลและหลากหลาย เราจึงต้องเริ่มจากการวิเคราะห์อาการของตนหลังเจอเหตุการณ์ระยำก่อนว่า สิ่งที่เราเจออยู่นี้มันแย่แค่ไหนและเราควรตั้งมือรับมันอย่างไร
- คนคนนั้นทำให้เรารู้สึกไร้ค่าหรือไม่ สัญญาณที่จะบ่งบอกได้ดีคือ เวลาเราพูดคุยกับคนเหี้ย เราจะรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าเสียเหลือเกิน โดนดูถูก ถูกกดขี่ รู้สึกหมดพลังในการดำเนินชีวิตต่อ ถ้าใช่ …มาถูกทางแล้วค่ะ คุณกำลังใช้ชีวิตอยู่กับคนเหี้ย
- ระยะเวลาที่ต้องใช้เวลาร่วมกับคนเหี้ย ถ้าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ บางทีเราอาจจะต้องปล่อยผ่าน อย่าเอามาใส่ใจ เพราะมันจะเสียเวลาชีวิตมากที่ต้องไปต่อสู้กับเขา แต่ถ้าเป็นเจ้านาย เป็นคนในที่ทำงาน เป็น “เพื่อน” อันนี้ยากละ อ่านต่อค่ะ
- คนที่เหี้ยใส่เรานั้น เขาเหี้ยชั่วคราว หรือ เหี้ยถาวรแบบมีใบประกันคุณภาพ เพราะบางครั้งเขาอาจจะเจออะไรแย่ๆมา แล้วเราไปอยู่ในจังหวะที่เขาจะระเบิดพอดี ข้อนี้ต้องใจเย็นๆอย่าไปรีบตัดสินใคร ลองทำความเข้าใจเขาก่อน
- ความเหี้ยที่เราเจอนั้น เกิดจากตัวบุคคล หรือเกิดจากระบบ ในที่นี้หนังสือพูดถึงบริบทของที่ทำงาน ระบบการทำงานหรือวัฒนธรรมองค์กรก็สามารถส่งเสริมให้คนเหี้ยได้ อันนี้ก็ต้องดูให้ดี
- สถานะของเรากับคนเหี้ย เรามีอำนาจอยู่ในระดับเดียวกันกับเขา หรือด้อยกว่า หรือสูงกว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราประเมินสถานการณ์ได้ว่า เราควรจะเสี่ยงไปต่อกรกับเขา หรือใช้วิธีหลบเลี่ยง หรือใช้วิธีการให้คนที่อยู่ในระดับเดียวกันกับเขาไปสู้แทน
- ข้อนี้สำคัญ สุดท้ายกลับไปที่ว่า เรารู้สึกทรมานแค่ไหนที่ต้องอยู่กับคนพวกนี้ เราคิดมากไปเอง หรือมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจแล้วพอใครมาทำอะไรก็เอามาเป็นประเด็นไปซะหมดรึเปล่า บางทีเราเจอคนพูดจากระแนะกระแหนใส่ มันก็ทำให้อารมณ์เสีย แต่พอกินขนมอร่อยๆเราก็ลืม ในขณะที่ถ้าเราเจอคนหักหลังเราหนึ่งครั้ง จิตใจเราแตกสลายและส่งผลให้ไม่สามารถไว้ใจใครได้อีกไปเป็นปีๆ วัดระดับความเสียหายทางจิตใจของตัวเองให้ดี แล้วประเมินออกมาว่า มันคุ้มค่ากันมั้ย
- เราหลอกตัวเองว่าเราไม่ได้เจอคนเหี้ยอยู่หรือเปล่า อย่าโกหกตัวเอง บางทีเราก็เกิดจะมีจิตใจงดงามปานนางฟ้า พยายามหาเหตุผลเข้าข้างคนอื่นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้เราตกอยู่ในสังคมต่ำตมและจมลึกไปเรื่อยๆ นี่คือตัวอย่างสิ่งที่เหล่านางฟ้าเทวดายกมาหลอกตัวเอง
- ประโยคปฏิเสธความจริง “มันก็ไม่ได้แย่อะไรนะ” …คือ ถ้าเริ่มคิดประโยคนี้ขึ้นมา แปลว่ามันแย่จ้ะ
- ประโยคแห่งความหวัง “เดี๋ยวทุกอย่างมันก็ดีขึ้นเอง” นี่เธอ…ถ้ามันจะดีขึ้น มันดีขึ้นนานละ
- ประโยคผัดวันประกันพรุ่ง “ถ้าทำงานนี้/โปรเจคนี้เสร็จเมื่อไหร่ ฉันจะออกไปจากวังวนบ้าๆนี้ทันที” หรือรอหาจังหวะที่เหมาะในการออกจากงาน … อันนี้เราเจอเยอะในหมู่เพื่อนเราเอง สุดท้ายไม่มีใครได้ออกมาซักคน เพราะโปรเจคนี้เสร็จ ก็มีโปรเจคใหม่เข้ามา มันเป็นแค่การหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหาเฉยๆ
- ประโยคปลอบใจตัวเอง “ฉันได้เรียนรู้อะไรมากมายจากคนเหี้ยเหล่านี้ แถมยังได้คอนเนคชั่นอีกด้วย” … เธอรู้ไหมว่า เธอสามารถเรียนรู้จากคนดีๆได้เหมือนกัน แล้วคอนเนคชั่นที่ได้นี่ เป็นคอนเนคชั่นเหล่าคนเหี้ยด้วยรึเปล่า คิดสิคิด
- ประโยคของผู้กล้า “ฉันนี่แหละที่จะเปลี่ยนแปลงมันเอง ฉันจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น จะทำให้โลกสงบสุข” …จ้าาาาา
- ประโยคของผู้มุ่งมั่น “ฉันจะสู้ จะพิสูจน์ให้ได้ว่าฉันเป็นคนจริง จะไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ” … บางทีเราก็ต้องดูเนอะว่า เราจะใช้พลังงานไปกับอะไร มุ่งมั่นผิดทิศผิดทาง มันก็เหนื่อย
- ประโยคของผู้แพ้ ” คนอื่นเขาเจออะไรแย่กว่านี้ตั้งเยอะ ที่ฉันเจอมันไม่เท่าไหร่หรอก”, “ที่นี่มันก็ไม่ได้ดีนัก แต่ที่อื่นอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้” …ผิดจ้ะ ส่วนตัวเราเกลียดข้ออ้างแบบนี้มาก จะอ้างทั้งทีทำไมยังอ้างได้ห่วยขนาดนี้อีก
อ่ะ เอาเท่านี้ก่อน เดี๋ยวมาเขียนต่อในตอนต่อไป
ระหว่างนี้ ดูตัวเองให้ออก วิเคราะห์สถานการณ์ตัวเองให้ได้ว่ากำลังเจอกับอะไร แบบที่ไม่เข้าข้างตัวเอง และไม่เข้าข้างคนอื่นมากเกินไป สุดท้าย หนังสือเตือนไว้ว่า จงมั่นใจ แต่อย่าฟันธง เพราะหากเราเผลอตัดสินใครไปว่าเขาเหี้ย โดยที่เราไม่วิเคราะห์ให้ดีซะก่อน เรานั่นแหละจะกลายเป็นคนเหี้ยเอง
ชอบๆอ่านแล้วขำ^^ได้ประโยชน์ดีมากอ่า
วันนี้คุณสู้กับเหี้ยแล้วรึยัง? 555